Shinjuku (Tokyo) แหล่งช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่น

กรมศุลกากรเตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และซื้อของใช้ของฝาก หรือของที่ระลึกติดตัวกลับมาให้ศึกษาข้อมูลทำความเข้าใจการผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าอย่างถ่องแท้ หลังพบมีผู้นำของติดตัวเข้ามาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นของต้องห้าม ต้องกำกัด (ควบคุมไว้เฉพาะ) ต้องเสียค่าปรับ หรือ ถูกริบของเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้วันปิดภาคเรียน ประกอบกับในเดือนเมษายนและพฤษภาคมจะมีวันหยุด ต่อเนื่องหลายเทศกาล พ่อแม่ผู้ปกครองจะถือโอกาสพาครอบครัวเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเมื่อเดินทางกลับจะซื้อของฝากของที่ระลึกหรือสินค้าแบรนด์เนมที่นิยมกลับมาด้วย โดยไม่ทราบถึงกฎระเบียบการนำของติดตัวเข้าประเทศว่ามีข้อกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วอาจต้องชำระอากรสำหรับของที่มีมูลค่าเกินกว่ากฎหมายอนุญาต หรือ อาจต้องเสียค่าปรับ หรือ ถูกริบของบางรายการที่เป็นของต้องห้าม

นักช้อปควรรู้! ก่อนหิ้วของนอกเข้าประเทศไทย

กรมศุลกากรจึงแจ้งให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศได้ทราบถึงข้อปฏิบัติด้านพิธีการทางศุลกากร เพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องก่อนนำของเข้าประเทศและเตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านช่องตรวจเขียว – แดงให้ถูกต้อง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

โดยแบ่งช่องตรวจศุลกากรออกเป็น 2 ช่อง คือ

1. ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือ ช่องตรวจเขียว สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร หมายถึงของที่ละเว้นการเสียภาษีอากร ได้แก่

-ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท (แก้ไขจากเดิม 10,000 บาท) เริ่มวันที่ 10 ก.ค. 58 เป็นต้นไป (ซึ่งมิใช่ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือ เสบียงอาหาร และต้องเป็นของที่ไม่มีลักษณะเป็นสินค้าในเชิงการค้า)

-ของใช้ส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพที่ซื้อจากร้านปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท

-ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเนื่องจากย้ายภูมิลำเนา อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : Link

-บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือรวมกันไม่เกิน 250 กรัม

-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร เป็นต้น

2. ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือ ช่องตรวจแดง สำหรับผู้โดยสารที่มีของต้องเสียภาษีอากร (ของมีจำนวนและประเภทที่นอกเหนือจาก การละเว้นภาษีอากร)

ของต้องห้าม (ห้ามมิให้นำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ได้แก่ สารเสพติด วัตถุ หรือ สื่อลามก ของเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ของละเมิดลิขสิทธ์และทรัพย์สินทางปัญญา ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม และสัตว์ ป่าสงวน) ของต้องกำกัด (ควบคุมการนำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะสามารถขนย้ายได้) หรือ ไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีอากรหรือไม่

-ของที่ต้องชำระภาษีอากร คือ ของที่ผู้โดยสารนำเข้ามามีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน และ/หรือมีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท สิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์ หรือ ทางการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า

-หากของที่ผู้โดยสารนำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ผู้โดยสารต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากร

-ของต้องกำกัด คือ ของบางชนิด ที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามา และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย ตัวอย่างเช่น

* พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ โดยกรมศิลปากร
* อาวุธปืน กระสุน วัตถุระเบิด โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
* พืช และส่วนต่างๆของพืช โดยกรมวิชาการเกษตร
* สัตว์มีชีวิต และซากสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
* อาหาร ยา โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
* ชิ้นส่วนยานพาหนะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
* บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกรมสรรพสามิต
* เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม โดยสำนักการอนุญาตกิจการเฉพาะกิจ สำนักงาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช)

ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศโดยมิได้ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารทุกคน แต่จะสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล ฉะนั้นการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพิธีการทางศุลกากรจึงถือเป็นหน้าที่ที่ผู้โดยสารทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การมีของที่ต้องสำแดงแต่หลีกเลี่ยงไม่สำแดงขณะผ่านจุดตรวจไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบจะถือเป็นความผิดโดยการปรับ 4 เท่าของมูลค่าของบวกค่าภาษีและอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ และของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรจะถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรทันที

บทลงโทษสำหรับผู้ที่หลีกเลี่ยงไม่แสดงของต้องห้าม ต้องกำกัด
-ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และ หรือ ถูกยึดของ ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีของต้องชำระอากร
-ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และ หรือ ถูกยึดของต้องห้าม หรือ ของต้องกำกัดที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า
-โทษสูงสุด ปรับ 4 เท่า ของมูลค่าของซึ่งได้รวมค่าอากรไว้ด้วยแล้ว หรือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับทั้งจำ

ขั้นตอนการปฎิบัติพิธีการสำหรับผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

airport
ที่มาภาพ: http://internet1.customs.go.th/ext/Formality/AirportFormalities.jsp

เรียบเรียง: DPlus Guide Team | ข้อมูลเพิ่มเติม: พิธีการศุลกากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า, ของควบคุมการนำเข้า-ส่งออก และ ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยว | ที่มา: กรมศุลกากร