เวลาเดินทางไปต่างประเทศ เรามักจะต้องปรับนาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อจะได้รู้ว่าที่นั่นเขากี่โมงกันแล้ว ซึ่งมีผลทั้งการนัดหมาย เวลาต่อเครื่องบิน รถ เรือ ฯลฯ

ในการปรับเวลาส่วนมาก็มักจะเพิ่มหรือลด “ทีละ 1 ชั่วโมงเต็มๆ” ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง ก็ปรับเพิ่มไป 2 ชั่วโมง, ประเทศฮ่องกง กับ สิงคโปร์ เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ก็เพิ่มแค่ 1 ชั่วโมง, อังกฤษช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง ก็ปรับลดไป 6 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งเราก็แค่หมุนเข็มนาฬิกาให้เข็มยาวครบเต็มรอบตามจำนวนชั่วโมงไป 1 รอบเวลา อยากเพิ่มกี่ชม. ก็เพิ่มรอบเวลาตามจำนวนชั่วโมงที่เราต้องการเพิ่ม เป็นต้น

ที่ว่าเร็วหรือช้ากว่ากันกี่ชั่วโมงนี้ จะอิงกับมาตรฐานเวลาโลกที่เมือง Greenwich ประเทศอังกฤษ แถบชานกรุงลอนดอน (อ่านว่า “กรี-นิช” ไม่ใช่ “กรีน-วิช” นะครับ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวและเป็นจุดเริ่มต้นแบ่งพิกัดเส้นแวงหรือ Longtitude ที่ 0 องศาของโลก (เรียกอีกอย่างว่าเส้น Prime Meridian) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่อังกฤษมีอำนาจยิ่งใหญ่ครอบคลุมอาณานิคมทั่วโลกเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั่นเอง โดยนับระยะห่างตามเส้นแวงรอบโลก 360 องศาว่าแบ่งเป็นเวลาที่ต่างกัน 24 ชั่วโมงหรือ 1 วันพอดี 

นักท่องเที่ยวต่อแถวกันถ่ายรูปที่เส้น Prime Meridian (Longtitude 0) หน้าหอสังเกตการณ์กรีนิช ชานกรุงลอนดอน  [credit Daniel Case - CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons]
นักท่องเที่ยวต่อแถวกันถ่ายรูปที่เส้น Prime Meridian (Longtitude 0) หน้าหอสังเกตการณ์กรีนิช ชานกรุงลอนดอน
[credit Daniel Case – CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons]

และเนื่องจากระบบนี้ช่วยให้คนทั่วโลกเทียบเวลากันง่ายขึ้น ก็เลยทำให้เป็นมาตรฐานที่นิยมกัน เรียกว่า เวลามาตรฐานกลางกรีนิช (Greenwich Mean Time หรือ GMT หรือเรียกให้สากลหน่อยก็เป็น UTC – Universal Time Coordinate) เช่น เวลาของไทยเร็วกว่าอังกฤษ 7 ชั่วโมง ก็เทียบว่าเป็น UTC+7 ส่วนสิงคโปร์เป็น UTC+8 ซึ่งดูแค่เลข 7 กับ 8 ก็รู้ว่าเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ใช้เวลาแตกต่างกันแบบเต็มๆ ชั่วโมงตามนั้น

แต่! วิธีนี้ไม่ใช่จะใช้ได้ทุกที่ในโลกนะครับ ยังมีดินแดนอีกหลายแห่งในโลกที่ใช้เวลาแตกต่างแบบไม่เต็มชั่วโมงกับชาวบ้านเขา ประเทศเหล่านี้ก็เช่น

  • อินเดีย (UTC+5:30) แต่เดิมแต่ละเมืองใหญ่ก็ใช้เวลามาตรฐานของตัวเอง แต่พออังกฤษเข้ามาปกครองแล้วจะปวดหัวมากเรื่องการเดินรถไฟ การสื่อสาร และอื่นๆ เลยเอาเวลาแบบเมืองที่อยู่ตรงกลางประเทศ คือมัททราส  หรือเชนไน ในปัจจุบัน มาใช้ให้ตรงกันทั้งประเทศ ซึ่งเมืองนี้ก็ดันมีตำแหน่งอยู่ครึ่งๆ กลางๆ เวลาไม่ลงชั่วโมงพอดีเมื่อเทียบกับกรีนิช เลยใช้เวลาเป็น UTC+5:30 
  • อิหร่าน (UTC+4:30) และ อาฟกานิสถาน (GMT+4:30) 
  • ศรีลังกา (UTC+5:30) อันนี้พอเข้าใจได้ว่าใช้ตามอินเดีย
  • พม่า (GMT+6:30) ซึ่งก่อนเมืองไทยครึ่งชั่วโมงพอดี ไม่เอาตามไทยเล้ย
  • เกาะ Newfoundland ของแคนาดา (UTC-3:30)
แผนที่เขตเวลาทั่วโลก [credit Phoenix B - CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons]
แผนที่เขตเวลาทั่วโลก [credit Phoenix B – CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons]

แต่ที่เด็ดกว่านี้ยังมีครับ เช่นบางประเทศที่มีขนาดเล็ก ก็ปรับแบบให้ตรงกับระยะห่างของตนตามแนวเส้นแวงจากกรีนิช โดยไม่ต้องลงชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงก็มี เช่น

  • เนปาล (UTC+5:45)
  • รัฐ Western Australia ของประเทศออสเตรเลีย (UTC+8:45)
  • เกาะ Chatham Island ของนิวซีแลนด์ (UTC+13:45)

น่าปวดหัวดีมั้ยครับ :-) เพราะฉะนั้นก่อนเดินทางท่องเที่ยว อย่าลืมปรับเวลาให้ตรงกับสถานที่นั้นๆ ด้วย ถ้าเจอเลขมีเศษนาทีก็ไม่ต้องตกใจไป ปรับตามนั้นได้เลยครับ

แต่จริงๆ แล้วรู้กันหรือเปล่าว่าเมืองไทยเราก็ไม่ได้ใช้เวลาที่กรุงเทพเป็นหลักนะครับ  เราใช้เวลาที่เส้นแวงที่ 105 ที่ผ่านจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นเวลามาตรฐานของทั้งประเทศต่างหาก รู้กันหรือเปล่า ^_^

ข้อมูล เรื่อง และภาพ: วศิน เพิ่มทรัพย์ DPlus Guide Team

ผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ ​DPlus เรียนมาทางวิศวะ แต่มาเอาดีทางเขียนหนังสือ ทำหนังสือและ content ชอบเดินทาง ถ่ายรูป สนใจอยากรู้ไปทุกเรื่อง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์​ ภูมิศาสตร์ แผนที่ จนถึงเทคโนโลยีและ Gadget :-)