ช่วงนี้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากทีเดียว เกี่ยวกับประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ผู้เดินทางออกนอกประเทศแจ้งของมีค่าที่จะนำออกไปและนำกลับมายังประเทศไทย

ซึ่งล่าสุดได้มีการแถลงข่าวชี้แจงจากกรมศุลกากรแล้วว่า เนื้อหาของประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องทำ และเป็นเนื้อหาสาระแบบเดียวกับประกาศฉบับเก่าที่เคยใช้ ซึ่งจะไม่ได้เจาะจงบังคับใช้กับนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่เป็นแนวทางในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางที่จำเป็นต้องพกของใช้จำนวนมากขณะเดินทางไปยังต่างประเทศ เช่น เพื่อนำไปแสดงนิทรรศการ หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ

แม้จะเป็นประกาศเพื่อมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางเพื่อประกอบอาชีพ แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราที่มีของมีค่าจำนวนมากต้องไปใช้ที่ต่างประเทศก็สามารถยื่นแจ้งของมีค่าที่เรานำติดออกไปนอกประเทศได้เช่นกัน เพื่อที่ตอนขากลับเข้าไทย หากถูกตรวจจะได้มีหลักฐานว่าเป็นของเราที่นำออกไปเอง ไม่ใช่ของที่ซื้อใหม่ จะได้ไม่ต้องโดนภาษีซ้ำ โดยเฉพาะของใช้จำพวก นาฬิกา สร้อยคอ แหวน กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป วิทยุเทป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ฯลฯ ซึ่งมีราคาสูงและนักท่องเที่ยวบางคนก็พกไปใช้งานทีละหลายๆ ชิ้น จนอาจถูกสงสัยและสุ่มตรวจเอาได้

How to แจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนําติดออกไปนอกประเทศ

การไปแจ้งของมีค่าที่จะนำออกไปนอกประเทศ จะต้องแจ้งตั้งแต่ก่อนบินค่ะ

โดยของมีค่าที่สามารถแจ้งว่าจะทำติดตัวออกไป จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– เป็นของเก่าใช้แล้วและมีจำนวน/ปริมาณพอสมควรแก่ฐานะ
– มีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย
– จำนวนรวมแล้วไม่เกิน 4 ชิ้น

สิ่งที่เราต้องมีคือ
– บัตรที่นั่งบนเครื่องบิน (Boarding Pass)
– หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
– ตั๋วโดยสาร
– แบบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดออกไป ตามประมวลฯ ข้อ ๓ ๐๔ ๐๖ ๐๒ 2 ฉบับ (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ลิงก์นี้)
– ภาพถ่ายหรือเอกสารแนบ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานว่าของมีค่าที่นำมาแจ้งเป็นของชิ้นเดียวกับที่นำออกนอกประเทศไปจริง

เราจะต้องทำเอกสาร แบบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดออกไป เอาไว้จำนวน 2 ฉบับ และนำไปแสดงแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ หน่วยงานบริการผู้โดยสารขาเข้า ที่สนามบิน เพื่อให้พนักงานศุลกากรลงนามรับรองเอกสารและบันทึกรายละเอียดก่อนเดินทาง

หน้าตาของ แบบแจ้งของมค่าที่ผู้โดยสารนําติดออกไป
หน้าตาของ แบบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนําติดออกไป

วิธีการผ่านช่องตรวจศุลกากรขากลับไทย

เมื่อรับรองเอกสารที่สนามบินเสร็จสิ้น พนักงานจะให้เราเก็บเอกสารเอาไว้ 1 ฉบับ จากนั้นก็สามารถขึ้นเครื่องเดินทางไปยังต่างประเทศได้ตามปกติ ขากลับก็นำเอกสารฉบับนี้แสดงต่อพนักงานศุลกากรประจำช่องตรวจแดงในวันเดินทางกลับมายังประเทศไทย

*หากผู้โดยสารมีของที่มิใช่ของใช้ส่วนตัว แต่มีลักษณะเป็นสินค้าในเชิงการค้า เช่น กล้วยไม้ หรือของใช้ชนิดอื่นๆ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรล่วงหน้าเพื่อนแนะนำให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรขาออกก่อนการเดินทาง

เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำของมีค่าออกไปใช้ยังต่างประเทศและนำกลับมาได้อย่างปลอดภัย ไม่โดนภาษีซ้ำ

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่จำเป็นต้องแจ้งทุกคน นะคะ

ใครควรแจ้งของมีค่าก่อนบิน?

วิธีนี้เหมาะสำหรับช่างภาพหรือตากล้องที่ต้องการไปถ่ายรูปโดยมีอุปกรณ์ราคาแพงเป็นจำนวนมาก นักธุรกิจที่นำสิ่งของมีค่าจำนวนมากไปจัดแสดงยังต่างประเทศ รวมทั้งนักเดินทางที่จำเป็นต้องพกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปมากกว่า 1 เครื่อง หรือมีของใช้ราคาแพงที่ซื้อมาใหม่จะนำไปใช้ในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นของที่ซื้อมาใหม่จากต่างประเทศ จนอาจเป็นที่ผิดสังเกตจนถูกเรียกตรวจเอาได้ สามารถยื่นแจ้งได้ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเพื่อประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจเลยค่ะ

ถ้ารู้ว่าของใช้ของตัวเองเข้าข่ายอาจผิดสังเกต การแจ้งของมีค่าเอาไว้ก่อนบิน ช่วยให้หากโดนเรียกตรวจตอนขากลับ จะได้ไม่ต้องมาควานหาหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของให้ลำบากกันเนอะ ^^

เรียบเรียง : ทีมงาน DPlus Guide | ที่มาข้อมูล : www.customs-suvarnabhumi.com | ที่มาแบบแจ้งฯ : กรมศุลกากร

เราเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นเกือบทุกภูมิภาคในหลากหลายฤดู และประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น รวมทั้งประเทศในโซนยุโรป เพื่อถ่ายภาพรวบรวมข้อมูล ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบหนังสือ และสื่อสาระด้านท่องเที่ยว & ไลฟ์สไตล์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และภาคภูมิใจของพวกเรา DPlus Guide Team